" กานพลู " สมุนไพรพิชิตอาการปวดฟัน

 " กานพลู " สมุนไพรพิชิตอาการปวดฟัน


ในวงการทันตกรรม กานพลูถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการปวดฟันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะน้ำมันจากดอกกานพลูที่มีฤทธิ์เป็นยาชาซึ่งทันตแพทย์บางคนนำมาใช้ทดแทนยาชาที่มีฤทธิ์รุนแรงเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ อีกทั้งน้ำมันกานพลูยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เกิดขึ้นภายในช่องปากอีกด้วย  

กานพลู คือ พืชชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น  สูงใหญ่ ความสูงโดยประมาณอยู่ที่ 5 – 10 เมตร หรือ บางต้นอาจสูงได้ถึง 20 เมตร ลักษณะที่สังเกตได้ คือ จะมีเรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ส่วนของลำต้นจะตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบกานพลู จะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ปลายใบเรียวแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก มีสีแดงหรือน้ำตาลแดง  ส่วนดอกออกเป็นช่อดอกสั้น ๆ หรือดอกตูม แทงออกบริเวณปลายยอดหรือง่ามใบบริเวณยอด แตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6-20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และมีสีแดงประปราย ผลกานพลู เป็นผลเดี่ยว มี 1 เมล็ด มีรูปไข่กลับแกมรูปรี เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ

แต่เดิม กานพลู เป็นพืชท้องถิ่นอยู่ในหมู่เกาะโมลุกกะ ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะดอกตูม ทำให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อ 207 ปี ก่อนคริสต์กาล โดยมีบันทึกว่า จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ใช้ดอกกานพลูอมไว้ในปากเพื่อดับกลิ่นปาก นอกจากนั้นยังถูกนำมาใช้ในการปรุงตำรับยาจีนหลายแขนง สำหรับเป็นยาช่วยย่อยอาหาร ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ไส้เลื่อน ยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และฮ่องกงฟุต ก่อนที่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 กานพลู จะถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในทวีปยุโรป จนกลายเป็นสมุนไพรที่มีราคาสูงและหายากมาก ในเวลาต่อมาเมื่อได้รับการวิจัยและค้นคว้า จนทราบสรรพคุณทางยาต่าง ๆ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ด้วย

สำหรับในประเทศไทย มีการนำกานพลูมาปลูกบ้าง แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย พบเพียงการปลูกสำหรับใช้เป็นยาในครัวเรือนเท่านั้น แต่เนื่องจากความต้องการใช้กานพลูในการผลิตเครื่องเทศ และสมุนไพรมีความต้องการสูง กานพลูในประเทศ จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ การใช้กานพลูในประเทศ จึงถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก  โดยมีปริมาณการนำเข้ามากกว่า 100 ตัน/ปี ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเชียเป็นหลัก ส่วนประเทศอื่นมีเพียงเล็กน้อย เช่น จีน บัลแกเรีย และอินเดีย

สรรพคุณของ กานพลู
การนำกานพลูมาใช้ประโยชน์โดยทั่วไป มักนำส่วนที่เป็น ดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมไปถึงนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มาใช้งาน โดยเมื่อพิจารณาจากส่วนต่าง ๆ จะมีสรรพคุณ ดังต่อไปนี้ สมุนไพรแก้ปวดฟัน ช่วยบรรเทาอาการได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

1. ช่วยระงับอาการเจ็บปวดได้

สารยูจีนอล ในน้ำมันหอมระเหยของดอกกานพลู มีฤทธิ์ช่วยระงับอาการเจ็บปวดได้ โดยผลการทดลอง เมื่อนำน้ำมันหอมระเหย สกัดด้วยสารเอทานอล ฉีดเข้าไปในหนูทดลอง ในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg แล้วฉีดกรดอะซิติก เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง (writhing) ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ปรากฏว่า สามารถลดอาการปวด (writhing) ของหนูได้สูงถึงร้อยละ 75, 66 และ 65 ตามลำดับ

2. รักษาอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

กานพลู มีฤทธิ์ช่วยรักษาและแก้อาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับยารักษาไทย กลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ สอดคล้องกับผลการศึกษาปัจจุบัน ที่พบว่า เมื่อทำเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดด้วยแอลกอฮอลล์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการแน่นจุกเสียดได้

3. แก้ลม แก้พิษ บำรุงโลหิต

ในตำรายาของไทย มีการบันทึกถึงการใช้กานพลูในการแก้ลม แก้พิษ บำรุงระบบไหลเวียนโลหิตหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน ”พิกัดตรีพิษจักร” ซึ่งว่าด้วยตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร  3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ”พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม  3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

4. ช่วยให้เก็บรักษาอาหารได้นาน

เมื่อใส่กานพลูเป็นส่วนผสมในอาหารนั้น ๆ จะทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น นั่นเพราะ กานพลู สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus flavus ได้ดี ซึ่งยิ่งเข้มข้นมาก ก็จะยิ่งยับยั้งได้มาก โดยจากการทดสอบ หากนำเอาน้ำคั้นจากดอกกานพลู ผสมในอาหารแข็ง PDA ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 4, 6, 8, 10, 15, 20 และ 30% และในอาหารเหลว ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 10 และ 30% ผลการทดลองพบว่าทุกความเข้มข้นที่ทดสอบ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้

5. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค

เมื่อทำการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู ด้วยสารสกัด diethyl ether พบว่าสามารถยับยั้งและต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ 4 ชนิด คือ Escherichia coli, Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลฝีหนอง และโรคติดเชื้อหลายระบบในร่างกาย

ติดตามข่าวสารอัพเดตล่าสุดได้ที่: thaigoodherbal เกษตรทั่วไทย ก้าวไกลทั่วโลก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 แบรนด์กระเป๋าสะพายข้างจากญี่ปุ่น ดูดี ใช้ได้ทุกวัน

เริ่มต้นการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองที่บ้าน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

การออกแบบภายใน New ORA Good Cat รุ่น PRO และ ULTRA